วันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2553

บทความที่เกี่ยวกับการเขียนต่างๆ (บทความแสดงความคิดเห็น)

บทความที่เกี่ยวกับการเขียนต่างๆ


บทความแสดงความคิดเห็น


 ช่วยกันประหยัดพลังงาน
                นโยบายชดเชยน้ำมันขายปลีกของรัฐบาลที่ดำเนินการมาถึงวันนี้นับเวลาได้ประมาณ
๑ เดือน ทำให้กองทุนน้ำมันต้องใช้เงินต้องใช้เงินชดเชยราคาถึงวันละประมาณ ๑๐๐ ล้าน
บาท รวมกว่า ๓,๐๐๐ ล้านบาท มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากบางฝ่ายการดำเนินนโยบายดังกล่าว ผิดพลาด เพราะจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี นั่นคือ ขีดความสามารถในการผลิตของสินค้า ส่งออกในระยะยาว จะมีปัญหาและประชาชนจะไม่รู้จักนิสัยรักการประหยัด ในขณะที่รัฐบาล โดย พ.ต.ท. ทักษิณ ชีนวัตร นายกรัฐมนตรีก็ยังคงยืนยันว่ารัฐบาลได้ทำอย่างดีที่สุดแล้ว จะเดินหน้านโยบายตรึงราคาน้ำมันไว้ต่อไป ขอให้ประชาชนช่วยกันประหยัดพลังงาน
                ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลในส่วนของรัฐบาลที่ตัดสินใจตรึงราคาน้ำมันมาก่อน หน้านี้ ๑ เดือน โดยถือเอาประชาชนเป็นหลักที่จะไม่เดือดร้อนจากการขึ้นราคาน้ำมันที่จะทำให้ ราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้นไปด้วย แต่ครั้นเวลาน้ำมันลดราคาลงมา ราคาสินค้ากลับไม่ลดตาม การตัดสินใจ ของรัฐบาลจึงควรได้รับการสนับสนุนจากประชาชน เพียงแต่ว่าการคาดการณ์ของรัฐบาลที่ว่าจะเกิดสงครามสหรัฐถล่มอิรักในเร็ววัน ไม่ได้เป็นไปตามนั้น เพราะเวลาผ่านมา ๑ เดือน สงครามยังไม่เกิด เงินของกองทุนน้ำมันที่นำมาชดเชยก็เพิ่มขึ้นทุกวันจนกลายเป็นตัวเลข ที่น่าวิตก แต่อย่างไรก็ตามมาถึงวันนี้ สงครามสหรัฐกับอิรักได้เกิดขึ้นแน่นอน ส่งผลให้ราคา น้ำมันผันผวนอย่างมาก เมื่อนั้นก็อาจจะมองเห็นว่าการตัดสินใจของรัฐบาลนั้นถูกต้องแล้ว
                 การดำเนินนโยบายชดเชยน้ำมันขายปลีกที่กองทุนน้ำมันต้องควักกระเป๋ามาตลอด  ๑ เดือน เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้นในช่วงก่อนสงครามนี้ จะไม่เป็นที่น่าวิตก ถ้าประชาชนคนไทยได้รับรู้ และเข้าใจว่าการตัดสินใจของรัฐบาลมุ่งประโยชน์ของ ประชาชน และประเทศชาติเป็นสำคัญ หาใช่เป็นประโยชน์ของรัฐบาล แต่นั่นต้องอยู่ภายใต้ข้อแม้ว่าประชาชนจะต้องร่วมแรงร่วมใจประหยัดพลังงาน ควรมีจิตสำนึกว่าถ้าใช้น้ำมันหรือใช้พลังงาน มากแม้จะจ่ายเงินเท่าเดิมก็จะเกิดผลเสียหายต่อประเทศชาติ
                 สิ่งที่ปรากฏขึ้นก็คือ ประชาชนโดยทั่วไปยังไม่ได้ตื่นตัวว่าจะต้องช่วยกันประหยัด วิถีชีวิต เป็นอย่างไรก็ยังคงเป็นอย่างนั้น การใช้รถโดยไม่จำเป็นก็ยังเกิดขึ้นอยู่ คิดเพียงว่าเมื่อมีเงินเติมน้ำมันก็คงจะไม่เดือดร้อนไปถึงคนอื่น แต่แท้ที่จริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น การคิดอย่างนี้เป็นการคิดเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง ไม่คำนึงถึงผลกระทบโดยรวม หากมีคนคิดกันเช่นนี้มากๆ อยากขับรถไปไหนก็ไปง่ายๆ คิดจะเปิดไฟกี่ดวง เปิดเครื่องปรับอากาศ โดยไม่ช่วยกันประหยัดพลังงานสุดท้ายเงินทองที่ต้องเสียไปให้ประเทศที่จำหน่ายน้ำมันก็จะเพิ่มทวีและประเทศไทย ก็จะมีหนี้สินจำนวนมาก
                การรณรงค์ให้คนไทยพร้อมใจกันประหยัดโดยขอความร่วมมือแบบธรรมดา อาจจะได้ผลสำหรับคนส่วนหนึ่งที่มีจิตสำนึก แต่คนอีกส่วนหนึ่งก็ติดนิสัยทำตัวสบาย – สบาย ไม่ใส่ใจเรื่องการประหยัด นี่เองทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดและกวดขันให้ปฏิบัติตามมาตรการ
                สมัยรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ก็เคยออกมาตรการต่างๆ มาใช้บังคับซึ่งก็ได้ผลระดับหนึ่งที่พลังงานไม่ถูกเผาผลาญไปโดยไม่จำเป็น มาถึงรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ก็น่าจะออกมาตรการมารองรับด้วยซึ่งควรจะไม่รีบด้วยเช่น การกำหนดเวลาเปิด – ปิด สถานบริการ ฯลฯ สำหรับการชดเชยราคาน้ำมันก็คงจะต้องพิจารณาว่าควรจะปรับปรุงหรือไม่


เป็นอันต(ร)ายถ้าไม่ระวัง
http://www.bloggang.com/data/yuichan/picture/1186672573.jpg
            มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นหนึ่งในหลายๆมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ซึ่งมีบรรยากาศภายในที่ดีเพราะได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติที่ที่ร่มรื่น พรั่งพร้อมไปด้วยพันธุ์ไม้น้อยใหญ่นานาชนิดที่ช่วยบังแดดบังฝนให้อย่างเต็มใจ และยังมีแหล่งน้ำที่สำคัญอย่าง สระแก้วไว้ให้นักศึกษาได้พักผ่อนหย่อนใจกัน อีกทั้งยังเป็นสถานที่เรียนรู้ของนักศึกษาบางคณะวิชาอีกด้วย นอกจากนี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้อยใหญ่และยังมีประโยชน์ในหลายๆด้านแก่นักศึกษาและบุคลากรที่อยู่ ณ ที่นี้ แต่ในทุกๆสิ่ง เมื่อมีข้อดี ก็จะมีข้อเสียเกิดขึ้นด้วย เปรียบดังเหรียญที่มี 2 ด้าน โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดและไม่เคยเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยแห่งนี้มาก่อน แต่กลับเกิดขึ้นแล้ว และกำลังเป็นปัญหาสำคัญซึ่งเป็นที่หวาดกลัวของนักศึกษาไปแล้วในขณะนี้ เนื่องจากนักศึกษาคณะอักษรศาสตร์ชั้นปีที่ 3 จำนวนสองคนได้รับบาดเจ็บสาหัสในขณะที่ขี่จักรยานอยู่ภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นช่วงที่มีอากาศแปรปรวน มีฝนตกลมแรง ต้นไม้ที่อยู่ริมทางบริเวณร้านอาหารร่มจันทร์ ล้มลงมาทับนักศึกษาทั้งสองคน  นอกจากเหตุการณ์ต้นไม้ที่ล้มทับนักศึกษาคณะอักษรศาสตร์แล้ว บริเวณหน้าคณะวิทยาศาสตร์ต้นไม้ที่อยู่ริมคลองก็ได้ล้มลงมาและบริเวณทางจากคณะวิทยาศาสตร์ไปหอพักชาย ก็มีต้นไม้ใหญ่ที่ล้มลงมาเนื่องจากเหตุการณ์ลมฝนครั้งนั้นด้วย แต่โชคยังดีที่ไม่มีใครบาดเจ็บเป็นอะไร แล้วเพราะเหตุใดถึงได้เกิดเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น
เกิดจาก........ความรุนแรงของดินฟ้าอากาศ ???
เกิดจาก......... ความประมาทของนักศึกษา ???
เกิดจาก.........ความผุกร่อนและเก่าแก่ของต้นไม้ ???
หรือ เกิดจาก........ความละเลยของทางมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้ใส่ใจในเรื่องนี้
                แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่เราจะมาโต้เถียงกันในขณะนี้ สิ่งที่พวกเราควรจะทำคือควรช่วยกันสอดส่องดูแล ป้องกันและแก้ปัญหานี้ไม่ให้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยของเราอีก เราไม่สามารถที่จะไปกำหนดความรุนแรงของดินฟ้าอากาศได้ ไม่สามารถรู้ได้ว่าต้นไม้ต้นไหนที่จะล้มลงมาอีก และก็คงไม่มีใครที่อยากจะให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น แม้คนๆนั้นจะไม่ใช่คนที่เรารู้จักสนิทสนมก็ตาม แต่ทุกคนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็เปรียบเสมือนคนในครอบครัวเดียวกัน ดังนั้นพวกเราควรช่วยกันป้องกัน และทางมหาวิทยาลัยก็ควรที่จะช่วยดูแลให้ดีด้วย โดยเอาบทเรียนที่ใหญ่ครั้งนี้ นำไปเป็นปัญหาระดับต้นๆของมหาวิทยาลัยที่ควรแก้ไข โดยทางมหาวิทยาลัยควรจะสำรวจเส้นทางในมหาวิทยาลัยที่มีความเสี่ยงที่ต้นไม้จะล้มลงมาได้ในช่วงฝนตก สำรวจต้นไม้ที่มีลักษณะลำต้นใหญ่ไม่แข็งแรง มีอายุมานาน หรือต้นไม้ที่มีลำต้นผุกร่อนจากปลวก หรือการกัดกร่อนตามธรรมชาติ ต้นไม้ที่อยู่ติดริมน้ำซึ่งจะทำให้รากไม่สามารถยึดติดกับดินได้แน่นหนา และต้นไม้ที่มีกิ่งก้านสาขายื่นออกมาในถนนก็ควรที่จะตัดเพื่อความปลอดภัย ซึ่งวิธีที่บอกมา อาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ แต่ยังดีกว่าที่ทางมหาวิทยาลัยจะไม่สนใจทำการใดๆเลย และนอกจากนี้ นักศึกษาและผู้ที่มีความเกี่ยวข้องที่อาศัยอยู่ในบ้านสีเขียวเวอร์ริเดียนแห่งนี้ ก็ควรจะช่วยกันป้องกันต้นเองจากภัยอันตรายนี้ด้วย คือเมื่อมีลมฝนแรงๆ ไม่ควรหลบฝนอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ แต่ควรที่จะหลบอยู่ในอาคารเรียนที่มีความมั่นคงและปลอดภัยมากกว่า หรือ ไม่ควรออกไปไหน ควรที่จะรอให้ลมฝนตกหยุดเสียก่อน เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง ถ้าท่านไม่รู้จักระวังและดูแลตัวของท่านเอง ภัยอันเป็นอันต(ร)าย! ก็อาจมาย่างกรายท่านได้โดยไม่รู้ตัว 

ราคาพลังงาน กับการกระตุ้นเศรษฐกิจ
                การที่รัฐบาลตัดสินใจไม่ปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) กับก๊าซธรรมชาติที่ใช้กับรถยนต์ (NGV) โดยให้เหตุผลว่าไม่ต้องการซ้ำเติมประชาชนในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่กำลังมีปัญหา และเป็นการสวนทางนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นไม่กี่วัน รัฐบาลก็ประกาศขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน (ส่วนหนึ่งปรับขึ้นหลังจาก 6 มาตรการ 6 เดือน หมดอายุในวันที่ 31 ม.ค. แล้วยังมีการปรับภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก) ทำให้ราคาน้ำมันทุกชนิดต้องปรับเพิ่มขึ้นลิตรละ 1.55 บาท ในวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา จึงสร้างความสับสนให้กับประชาชนพอสมควรว่า การไม่ขึ้นราคา LPG และ NGV แต่กลับมาขึ้นภาษีสรรสามิตน้ำมันทุกประเภท รัฐบาลไม่ห่วงว่าจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชน หรือเป็นการสวนทางบรรยากาศในการที่รัฐบาลกำลังออกมาตรการเพื่อกระตุ้น เศรษฐกิจหรืออย่างไร
                จริงๆ แล้วต้องยอมรับว่านโยบายทางด้านพลังงานของไทยนั้นค่อนข้างลักลั่นและไม่สอด คล้องกับความเป็นจริงมานานแล้ว ก่อนหน้ารัฐบาลชุดนี้จะเข้ามารับหน้าที่ โดยนโยบายด้านพลังงานนั้นไม่สามารถดำเนินไปตามแผนแม่บทเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ ด้านพลังงานในระยะยาวได้ ทั้งนี้เพราะถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองเป็นระยะๆ โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างราคาพลังงานและการปรับราคาพลังงานให้สอดคล้องกับต้น ทุนที่แท้จริงในตลาดโลก
                คำถามก็คือถ้าเราต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ราคาพลังงานจำเป็นต้องอยู่ในระดับต่ำเสมอไปหรือไม่ คำตอบที่ถูกต้องก็คือ ราคาพลังงานที่ต่ำมีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็จริงแต่ก็ควรสะท้อนต้นทุนที่ แท้จริงตามราคาในตลาดโลกด้วย เพราะเราเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงานสุทธิ (Net Importer)
                 การกดราคาพลังงานให้ต่ำกว่าความเป็นจริงอาจมีส่วนช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจได้บ้าง แต่ในระยะยาวจะทำให้เกิดการใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และกระตุ้นให้เกิดการใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย ไม่ประหยัด และไม่ส่งเสริมการพัฒนาและการใช้พลังงานทดแทนอีกด้วย
                การที่เราเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงานสุทธิ ทำให้เราต้องสนใจกับโครงสร้างราคาพลังงานทุกชนิดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะพลังงานล้วนแต่ใช้ทดแทนกันได้ ถ้าเรายอมให้น้ำมันราคาแพงเป็นไปตามกลไกราคาตลาดโลก แต่ไปกดราคาก๊าซทั้ง LPG และ NGV เอาไว้ให้อยู่ในระดับต่ำ ก็เท่ากับเรากำลังส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาใช้ก๊าซมากขึ้นนั่นเอง และในระยะยาวจะทำให้เราต้องนำเข้าพลังงานประเภทก๊าซไม่ว่าจะเป็น LPG หรือ LNG เพิ่มมากขึ้น
                มีข้อโต้แย้งว่าก๊าซธรรมชาติ (NG) เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในอ่าวไทย ไม่ควรไปอิงราคาในตลาดโลก ผมมีความเห็นว่าทรัพยากรธรรมชาติทั้งหลายที่เรามีอยู่ ผลการสำรวจระบุชัดว่ามีอยู่อย่างจำกัด (ใช้ได้ประมาณอีก 15 ปี ถ้าไม่สามารถสำรวจพบเพิ่มขึ้นอีก) และในปัจจุบันเราก็ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติมาจากประเทศพม่าถึง 25% ของความต้องการทั้งหมดในประเทศ ในระยะยาวเราต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากประเทศออสเตรเลียหรือตะวันออกกลางเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าขณะนี้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะเริ่มติดลบก็ตามแต่ก็จะ ต้องขยายตัวเพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไป
                นอกจากนั้นทรัพยากรธรรมชาติทุกชนิด (ป่าไม้ สินแร่ต่างๆ ตลอดจนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) ล้วนแต่มีมูลค่าในตัวของมันเอง โดยเทียบเคียงได้กับราคาในตลาดโลก และราคาก็มีการปรับขึ้นลงตามความต้องการในตลาดโลก
                ดังนั้นเรามีความจำเป็นอะไรที่จะต้องเร่งการนำทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้มา ใช้ให้หมดไปโดยเร็ว โดยการตั้งราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง (บางครั้งตั้งราคาผลิตภัณฑ์บางชนิดต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริงด้วย เช่น NGV เป็นต้น)
                นอกจากนั้นถ้าเราตั้งราคาพลังงานที่มาจากทรัพยากรธรรมชาติในประเทศให้ต่ำๆ เพื่อนำไปใช้ในการผลิตสินค้าหรือพัฒนาประเทศ ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทำให้มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจก็ยังพอทำเนา แต่ถ้าตั้งราคาทรัพยากรเหล่านี้ให้ต่ำๆ โดยก่อให้เกิดการบริโภคพลังงานที่ไม่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ แต่เอามาใช้เผาเล่นไปกับรถยนต์ส่วนตัวอย่างในปัจจุบันก็ยิ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากขึ้น
                 เจตนาของผมไม่ได้ต้องการให้ผู้บริโภคต้องบริโภคพลังงานในราคาแพง เพียงแต่เห็นว่าพลังงานเป็นสิ่งที่ต้องใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นราคาพลังงานทุกชนิดจะต้องตอบสนองต่อราคาที่แท้จริงในตลาดโลก เพราะเราเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงาน ไม่ใช่เป็นประเทศผู้ส่งออกพลังงานเหมือนประเทศในกลุ่ม OPEC หรือประเทศมาเลเซียเพื่อนบ้านเราซึ่งสามารถตั้งราคาพลังงานต่ำๆ ได้ โดยเอาเงินค่าพรีเมียมที่ส่งออกพลังงานมาอุดหนุน แต่ก็อุดหนุนไม่ไหวเพราะใช้เงินมากมายมหาศาล และทำให้ประชาชนไม่ประหยัดพลังงาน
                ดังนั้นการปรับโครงสร้างพลังงานแต่ละชนิดของไทยให้สอดคล้องกัน ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม (LPG) หรือก๊าซรถยนต์ (NGV) จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลสมควรจะรีบทำครับ และต้องรีบทำโดยด่วนด้วย เพราะขณะนี้เป็นช่วงจังหวะที่เหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากราคาพลังงานโลกอยู่ในระดับต่ำ ถ้าไม่ทำตอนนี้รัฐบาลก็จะเสียโอกาสทองในการปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่ลัก ลั่นและมีปัญหามาโดยตลอด

     อย่าทำให้น้ำมันและพลังงานกลายเป็นสินค้าทางการเมืองอีกต่อไปเลยครับ!!!

ที่มา : http://www.thannews.th.com/detialNews.php?id=T0723981&issue=2398


บทความแสดงความคิดเห็น
เกี่ยวกับนโยบายของรัฐ

จับตารัฐ... แปลงอบายมุข เป็นความชอบธรรม !!
รุ่งทิพย์ ภู่ทองคำ  กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 26  มีนาคม 2547
                นโยบายเปิดบ่อนกาสิโนในประเทศไทย กำลังเดินหน้าอย่างเข้มข้น ขณะที่ประเทศชาติกำลังอยู่ในขั้นวิกฤติ รุมเร้าด้วยปัญหานานัปการ ทั้งปัญหาภาคใต้ ฆ่ากันตายแบบรายวัน ปัญหาการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งการระบาดซ้ำของไข้หวัดนกในบางพื้นที่ แต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับมาคิดจะเปิดบ่อนกาสิโนในประเทศ ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ไม่ชอบธรรม เป็นการหาเงินโดยใช้วิธีการที่ไม่ได้ยืนด้วยขาของตนเอง
                แนวคิดการเปิดบ่อนกาสิโน เป็นที่รู้ๆ กันว่า ในระดับนโยบายได้มีการตัดสินใจกันแล้ว เพียงแค่รอว่าจะอ้างเหตุผลอะไร และความน่าเชื่อถือมารองรับการตัดสินใจในการตั้งเปิดบ่อนกาสิโนเท่านั้น เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนจะต้องออกมารณรงค์ให้สังคมทั่วไปได้ตระหนักถึงผลกระทบจากการเล่นการพนัน หากมองอย่างผิวเผินการออกมาโยนหินถามทาง เกี่ยวกับการเปิดบ่อนกาสิโนถูกกฎหมายในครั้งนี้จะเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ถ้าลงลึกในรายละเอียดจะพบว่า ครั้งนี้ไม่ธรรมดา เพราะคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคาร สถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ได้ลักไก่สรุปผลการศึกษาถึงผลดีไปให้รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้พิจารณา โดยอ้างถึงผลดีไว้ 5 ประการ คือ
                1.จะทำให้รัฐสามารถสร้างงานสร้างรายได้เข้าประเทศ จากการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ปีละหลายแสนล้านบาท อาจทำให้คนไทยไม่ต้องไปเล่นการพนันที่ประเทศอื่น โดยเงินที่เคยสูญเสียให้กาสิโนต่างประเทศจะได้หมุนเวียนอยู่ในประเทศไทย และรัฐสามารถนำรายได้มาเป็นสวัสดิการด้านสังคม ช่วยคนทั้งประเทศไทย
                2.เป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว มีเงินตราจากคนต่างชาติที่เข้ามาเล่นการพนัน
                3.ลดภาระเจ้าหน้าที่ในการปราบปรามบ่อนการพนันเถื่อน ลดการใช้อิทธิพลข่มขู่และคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐ จากสถิติพบว่ามีผู้เล่นการพนันต่อปีประมาณ 295,898 คนและต้องใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามถึงร้อยละ 15-20 จากทั้งหมด 200,000 คน
                4.รัฐสามารถสร้างงานให้ประชาชนจำนวนมาก โดยเมื่อมีกาสิโนที่ได้มาตรฐาน จะมีการสร้างแหล่งบันเทิงต่างๆ ไว้รองรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศอย่างครบวงจร นอกจากนี้ยังช่วยให้เกิดธุรกิจรอบๆ กาสิโนในทุกรูปแบบ อาทิ ร้านอาหาร ธนาคาร รถแท็กซี่
                5.ช่วยลดปัญหามาเฟียและปัญหาสังคมอื่นๆ เพราะรัฐสามารถควบคุมการดำเนินงานของธุรกิจนี้ได้ พร้อมทั้งลดปัญหาบ่อนการพนันเถื่อน ลดปัญหาส่งส่วย

                อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการฯ ได้สรุปผลเสียที่ได้ศึกษามาพบว่า มีอยู่เพียงแค่ 3 ข้อเท่านั้น ได้แก่
                1.หากรัฐไม่มีมาตรการควบคุมกาสิโนอย่างเข้มงวดและโปร่งใส อาจเกิดปัญหาต่อสังคมได้ เช่น สังคมเสื่อมศีลธรรม เพราะเมื่อเปิดให้เล่นพนันอย่างถูกกฎหมาย เท่ากับส่งเสริมให้คนปฏิบัติตัวขัดกับหลักคำสอนของศาสนา และยังอาจทำให้เกิดปัญหาครอบครัว เพราะบุคคลที่ติดอบายมุขจะไม่มีเวลาทำงานหรือดูแลครอบครัว ซึ่งปัญหาสถาบันครอบครัวนี้ มีสาเหตุมาจากตัวบุคคลมากกว่าการมีกาสิโน โดยแม้จะไม่มีกาสิโนบุคคลดังกล่าวก็ไปเล่นที่บ่อนเถื่อนอยู่ดี
                2.การเปิดกาสิโนจะเป็นตัวเร่งสร้างนิสัยมัวเมาในอบายมุขแก่เยาวชนของชาติ ทั้งนี้เยาวชนจะนำเงินที่ผู้ปกครองให้ไปเล่นการพนัน เมื่อเงินหมดก็จะลักเล็กขโมยน้อย พัวพันกับยาเสพติดจนถึงขั้นทำความผิดที่อุกฉกรรจ์มากขึ้นเรื่อยๆ หากรัฐจะเปิดกาสิโนก็ควรกำหนดอายุของผู้มาใช้บริการ
                3.รัฐต้องมีมาตรการป้องกันการฟอกเงิน
                การที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นด้วยกับรายงานฉบับนี้เป็นจำนวนมากนั้น ถือได้ว่า เป็นเพียงแค่การมองด้วยผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่จะได้รับเงินเข้าประเทศอย่างรวดเร็ว โดยมองข้ามผลเสียในระยะยาวที่จะเป็นการทำลายคุณค่าของมนุษย์ ซึ่งจะทำให้เกิดความสูญเสียในอนาคตมากมายมหาศาล
                นอกจากนี้แล้วผลกระทบด้านสังคม จะทำให้ชีวิตของคนในพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปมาก เกิดความฟุ่มเฟือยอยากเล่นการพนันกันมากขึ้น และถ้าสร้างสถานเริงรมย์อยู่ภายในบ่อนกาสิโนด้วยแล้ว นอกจากจะทำให้เกิดปัญหาโสเภณีแล้วยังทำให้เกิดปัญหาสถาบันครอบครัวตามมา
                นอกจากนี้ในส่วนของบ่อนเถื่อน เช่น บ่อนกบดำ กบแดง ก็ไม่ได้หมดไป เพราะการเปิดกาสิโน ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เข้มงวดในการตรวจจับบ่อนเหมือนเดิม ส่วนผลกระทบด้านเศรษฐกิจ คนเล่นกาสิโนส่วนใหญ่เป็นคนมีฐานะ เป็นเจ้าของธุรกิจ หากเล่นการพนันจนหมดเนื้อหมดตัวจะทำให้ลูกจ้างตกงาน ไม่มีเงินไปเลี้ยงครอบครัว จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ซึ่งสร้างความสูญเสียมหาศาล
                ขณะที่นายมนตรี สินทวิชัย สมาชิกวุฒิสภา มองต่างมุมกับสภาผู้แทนราษฎรอย่างสิ้นเชิง โดยแสดงความรู้สึกเป็นห่วงกับมุมมองของผู้บริหารประเทศ หรือคนที่เป็น ส.ส.มีความพยายามจะป้อนทัศนคติให้กับเด็กและเยาวชน โดยมองการพนันเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย เมื่อเด็กเติบโตมากับวิธีคิดอย่างนี้แล้ว สังคมจะอยู่ได้อย่างไร
                ดังนั้นวันนี้ทุกคนในสังคมจะต้องมีสติ เพื่อรับฟังสิ่งที่มีคนพยายามทำให้เกิดขึ้น แค่ปัญหาหวยบนดินที่ตอนนี้มีพระเริ่มกล้าแทงกันแล้ว อย่างนี้สังคมจะมีอะไรเป็นหลัก
                สิ่งที่ผู้บริหาร หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการร่างกติกาของบ้านเมืองจะต้องคิดและระวังคือ อบายมุขก็คืออบายมุข อย่าพยายามทำให้กลายเป็นเรื่องความชอบธรรม เมื่อบ่อนกาสิโนเกิดขึ้นจะทำให้คนเล่นการพนันมากขึ้น เพราะไม่ต้องแอบซ่อน หรือคนที่ไม่เคยลองก็อยากลอง เพราะเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย โดยเฉพาะข้าราชการ หากไปเล่นเสียการพนัน หน้ามืดขึ้นมาจะเกิดปัญหาการคอร์รัปชัน ปัญหาครอบครัวแตกแยก ในที่สุดก็หนีไม่พ้นการทำร้ายเด็กที่อยู่ในครอบครัว
                ดังนั้นรัฐบาลอย่าพยายามคิดเรื่องนี้ ควรศึกษาวิธีปราบบ่อน หรือปราบคอร์รัปชันดีกว่า
                สิ่งสำคัญอีกประการคือ รัฐบาลควรทำประชาพิจารณ์รับฟังเสียงประชาชน เพราะบ่อนถือเป็นมลพิษทางสังคม เราควรไปเพิ่มในส่วนที่ทำอะไรดีๆ ให้กับเด็กและเยาวชนจะดีกว่า และหากมีการเพิ่มพื้นที่ในส่วนใดของสังคมก็ควรจะเพิ่มพื้นที่ที่มีประโยชน์ ไม่ใช่ไปเพิ่มพื้นที่ที่กลับมาทำร้ายสังคมได้ รัฐบาลพยายามจะเร้าเรื่องการบริโภคก็มากพอแล้ว แต่กลับมีสิ่งเร้าให้เสี่ยงโชคอีก....นโยบายเปิดบ่อนกาสิโน ของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มองรอบด้านแล้วหรือยัง การออกมาโยนหินถามทาง เป็นระยะๆ ของรัฐบาลสร้างความอึดอัดใจให้กับประชาชนไม่ใช่น้อย
                การนำสิ่งที่ผิดกฎหมายมาทำให้ถูกกฎหมาย เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือ อย่าทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาลชุดนี้อีกเลย เพราะลำพังการแก้ไข "ปัญหาภาคใต้" หรือ "ไข้หวัดนก" ประชาชนก็ขาดวามเชื่อมั่นไปมิใช่น้อยแล้ว แต่รัฐบาลกำลังจะสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นมาอีก....หรือว่ารัฐบาลกำลังจะเดินหน้านโยบาย แปลงอบายมุข เป็นความชอบธรรม !!



"หมอเลี้ยบ" โยนเผือกร้อน ชง ครม.ล้มโต๊ะ "สมาร์ตการ์ด"
เศรษฐกิจ  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 24 ฉบับที่ 1232



                แนวคิดการทำบัตรประจำตัวประชาชนอเนกประสงค์ หรือบัตรสามาร์ตการ์ด ได้เริ่มขึ้นมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว คือประมาณต้นปี 2545 โดยรัฐบาลมุ่งหวังที่จะให้ประชาชนทุกคนมีบัตรประชาชนที่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ ของตัวเองไว้เพื่อใช้ในการติดต่อราชการ และการทำธุรกิจต่างๆ ให้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
                ในช่วงแรกรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการ โดยกระทรวงมหาดไทยเองก็ได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปทะเบียนราษฎรแห่งชาติ ขึ้นมาดำเนินการ แต่ผ่านมา 2 ปีก็ไม่มีความคืบหน้า และในปี 2546 ก็มีการจัดตั้งคณะกรรมการอีกชุดเพื่อหารือเรื่องการทำบัตรสมาร์ตการ์ด โดยคณะกรรมการ 2 กลุ่มนี้มีแนวความคิดที่ขัดแย้งกันหลายเรื่อง เช่น คณะกรรมการปฏิรูปฯ เห็นว่าการบรรจุข้อมูล ควรเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย โดยให้มีบัตรรูปแบบเดียว และส่วนหน่วยงานอื่นนั้น หากหน่วยงานใดมีระบบข้อมูลพร้อมก็ให้นำมาใส่ ขณะที่คณะกรรมการอีกชุดเห็นว่า ควรให้แต่ละหน่วยงานออกบัตรสมาร์ตการ์ดเอง เช่น กระทรวงสาธารณสุข ออกสมาร์ตการ์ดเกี่ยวกับข้อมูลคนไข้ เป็นต้น
                เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เมื่อเดือนตุลาคม 2546 คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ดำเนินการแทน
                เมื่อรับงานมา น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ก็เริ่มดำเนินการ โดยผ่านมาปีเศษๆ ก็ไปถึงขั้นจะเปิดประมูลงานที่เกี่ยวข้องซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.การประมูลตัวบัตรสมาร์ตการ์ด 2.การประมูลจัดซื้อเครื่องแม่ข่ายเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งจะแบ่งเป็นระบบซีเอ็มเอส และเคเอ็มเอส และ 3.การประมูลเครื่องอ่านข้อมูลในบัตร (รีดเดอร์)
                โดยเริ่มจากการประมูลตัวบัตรสมาร์ตการ์ดก่อน วางแผนไว้ 3 ปี (2547-2549) รวม 60 ล้านบัตรเท่ากับจำนวนประชากร ใช้งบฯ รวม 7,910 ล้านบาท โดยล็อตแรกที่เริ่มปีงบประมาณ 2547 จะประมูล 12 ล้านบัตร ราคากลาง 120 บาทต่อใบ รวมงบฯ 1,440 ล้านบาท กำหนดการประมูลไว้เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา
                อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะ นายรอม หิรัญพฤกษ์ ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซอฟต์แวร์ปาร์ก) ได้ยื่นใบลาออกจากคณะกรรมการตรวจรับพัสดุบัตรสมาร์ตการ์ด และแสดงความเห็นว่ารัฐบาลควรชะลอการประมูลตัวบัตรไว้ก่อน เพราะขณะนี้ยังมีความไม่พร้อมหลายๆ ด้านในการใช้บัตรสมาร์ตการ์ด การเปิดประมูลจัดหาบัตรไปจะทำให้สูญเสียงบประมาณโดยใช้เหตุ
                นอกจากนี้ ดร.รอม ยังระบุว่าแนวคิดการใช้บัตรสมาร์ตการ์ดของรัฐบาลชุดนี้ ไม่ตรงกับแนวคิดการใช้เทคโนโลยีสมาร์ตการ์ด ที่เน้นด้านการรักษาความมั่นคง เน้นให้พ้นจากการปลอมแปลงแต่การดำเนินการ
ของรัฐยังขาดความพร้อมด้านต่างๆ ที่จะทำให้การใช้บัตรนี้ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
                ดร.รอม ยังเห็นว่าการดำเนินการโดยขาดความพร้อม อาจจะทำให้ประเทศไทยอาจกลายเป็นตัวอย่างด้านลบของโครงการมูลค่ามหาศาลนี้ รวมทั้งตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การตรวจรับงาน ข้อกำหนดเชิงเทคนิคต่างๆ ยังมีข้อบกพร่องและข้อสงสัย โดยเฉพาะการพิจารณารายละเอียดมีระยะเวลาสั้นมาก ทั้งที่ควรเป็นการประมูลในระดับนานาชาติ เพื่อแสดงความโปร่งใสของโครงการขนาดใหญ่ และผลที่จะได้จากการใช้สมาร์ตการ์ดครั้งนี้ แทบจะไม่มีความแตกต่างจากการใช้บัตรแถบแม่เหล็กแบบเก่า ซึ่งหากจะทำให้พร้อม ควรจะมีใการกำหนดเลข 13 หลักกับหน่วยบริการของรัฐทุกหน่วยเสียก่อน ที่สำคัญหากไม่มีการเร่งรัดให้ออกพระราชบัญญัติมารองรับความถูกต้องสมบูรณ์ของการใช้งานไม่ได้ ก็ไม่รู้ว่าจะใช้บัตรนี้เชิงอเนกประสงค์ได้จริงจังอย่างไร และในขณะที่การควบคุมการเข้าถึงข้อมูล อยู่ในมือกระทรวงมหาดไทย ส่วนกระทรวงไอซีทีเป็นเพียงหน่วยงานจัดซื้อวัสดุที่ใช้ในโครงการเท่านั้น ขณะเดียวกัน ข้อมูลส่วนบุคคลที่บรรจุในสมาร์ตการ์ด ยังไม่มีกลไกที่จะสร้างความมั่นใจว่าจะป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลนั้นได้ รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างกลไกป้องกันและแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า ต้องมีการทดลองก่อนการใช้งานจริง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานกว่าที่จะเปิดใช้จริงได้ แต่โครงการนี้รัฐบาลกำหนดระยะเวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น
                นอกจาก ดร.รอม ที่ยื่นใบลาออกแล้ว นายชุณหพงศ์ ไทยอุปถัมภ์ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ 6 กระทรวงไอซีที ก็ยื่นใบลาออกอีกคน เพราะมีความอึดอัดใจในการทำงาน ยิ่งทำให้เรื่องนี้ตึงเครียดขึ้น นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา หรือแม้แต่บริษัทการ์ทเนอร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาทางเทคโนโลยีสารสนเทศระดับโลก ที่มี นายดิออน วิกกินส์ ผู้อำนวยการวิจัยของบริษัทการ์ทเนอร์ ในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เป็นผู้ให้คำปรึกษาส่วนตัว น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีกระทรวงไอซีที ยังมีสรุปถึง น.พ.สุรพงษ์ ไว้ตั้งแต่เดือนตุลาคม ว่ากว่าที่ไทยจะพร้อมใช้สมาร์ตการ์ด ก็คืออีก 6 ปีข้างหน้า
                อย่างไรก็ตาม หลังจากข่าวการลาออกของ ดร.รอม ปรากฏออกมา น.พ.สุรพงษ์ ก็พยายามเบี่ยงเบนประเด็นไปว่า เป็นเรื่องของผู้เสียประโยชน์จากการเข้าร่วมประมูลทำตัวบัตรสมาร์ตการ์ดที่ต้องการให้ยกเลิกการประมูลวันที่ 22 มีนาคม และยืนยันที่จะเดินหน้าการประมูลต่อ สุดท้ายก็ได้กลุ่มกิจการร่วมค้า จันวาณิชย์ ซีเคียวริตี้ พริ้นติ้ง และเอ็กซอลโต้ เป็นผู้ชนะการประมูล ซึ่งก็คงเป็นการแก้เกี้ยวของกระทรวงไอซีทีและรัฐบาล เพราะหลังจากนั้นในวันที่ 23 มีนาคม ซึ่งมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) น.พ.สุรพงษ์ได้เสนอผลการประมูลดังกล่าวให้ที่ประชุมพิจารณา และมีมติให้ยกเลิกผลการประมูลไป โดยอ้างว่าราคาที่กลุ่มกิจการร่วมค้า จันวาณิชย์ เสนอมาที่ 144 บาท จากราคากลาง 120 บาทยังสูงอยู่ ถือได้ว่าเป็นทางออกที่สวยงามของรัฐบาลชุดนี้ และยังดีกว่าดึงดันที่เร่งทำบัตรสมาร์ตการ์ดออกไป เพราะในขณะที่ไฟใต้กำลังลุกลามและยังไม่มีท่าทีว่าจะจบ ปัญหาสัญญาสัมปทานไอทีวี ก็ยังแทรกอยู่ในกระแสสังคมอยู่
                การปิดศึกเรื่อง "สมาร์ตการ์ด" ลงเสียด้านหนึ่ง จะช่วยให้อุณหภูมิปัญหาที่รุมเร้ารัฐบาลขณะนี้ลดลงได้ไม่มากก็น้อย

http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2004q1/article2004march26p4.htm


3 ปีกองทุนหมู่บ้านได้อะไร
วิษณุ บุญมารัตน์ เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ สถาบันราชภัฏสวนดุสิต  กรุงเทพธุรกิจ  วันที่  12  กุมภาพันธ์ 2547

                
              หลังจากที่รัฐบาล พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศจะ "เลิกทาสในระบบทุนนิยม และขจัดปัญหาความยากจนให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทยภายใน 6 ปี" นั้น ได้มีการผลักดันนโยบาย "ประชานิยม" ออกมารับใช้ประชาชน คิดค้นโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการพักชำระหนี้ โครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โครงการแก้ปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ 
                รวมไปถึงโครงการสารพัดเอื้ออาทร ออกมาจำนวนมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาของการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้ ท่ามกลางกระแสวิพากษ์จากทุกภาคส่วนของสังคมที่มีต่อนโยบายและโครงการเอื้ออาทรต่างๆ ของรัฐบาลว่า เป็นนโยบายที่จะนำพาประชาชนระดับรากหญ้าเข้าสู่ระบบทุนนิยมแบบครบวงจร เป็นการมัวเมาและสร้างหนี้ระยะยาวให้กับประชาชน
                โครงการหนึ่งที่ขอหยิบยกขึ้นมากล่าวถึง คือโครงการ "กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง" โครงการนี้เป็นกองทุนที่รัฐบาลได้จัดสรรเงินลงไปให้หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในหมู่บ้านและชุมชนเมืองหรือเป็นแหล่งเงินทุนในการลงทุนเพื่อสร้างอาชีพเสริม และสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในชุมชนและวิสาหกิจขนาดเล็กในครัวเรือน ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าของประเทศ สร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต
                จากการตรวจสอบข้อมูลของการดำเนินงานโครงการดังกล่าวกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยล่าสุด พบว่า โครงการกองทุนหมู่บ้านมีปัญหาในการดำเนินการอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลต้องรีบดำเนินการแก้ไข บางกองทุนอยู่ในสภาพที่อ่อนแอและไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร ปัญหาที่เกิดจำแนกเป็นรายภาคได้ดังนี้
                บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมถึง ภาคตะวันตก พบปัญหาทั้งจากระบบการทำงานและที่ตัวบุคคล ระบบการทำงาน เริ่มตั้งแต่ขาดการประชาสัมพันธ์ทำให้ผู้ปฏิบัติขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการจัดทำบัญชีอย่างเป็นระบบ มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบ คำสั่งต่างๆ หลายครั้งจนผู้ปฏิบัติงานเกิดความสับสน เช่น ระเบียบในการทำนิติกรรมสัญญา ไม่มีกรอบชี้วัดการปฏิบัติงาน มีหมู่บ้านมากทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กจนดูแลไม่ทั่วถึง บางแห่งยังขาดที่ทำการและอุปกรณ์สำนักงาน นอกจากนี้ยังมีเงินออมต่ำ ทำให้วงเงินกู้มีน้อย ระยะการชำระคืนเร็วเกินไป และไม่มีเงินประกันความเสี่ยง ในส่วนของตัวบุคคลนั้น ทั้ง 3 ภาคที่กล่าวมาข้างต้นนี้ประสบปัญหาตั้งแต่ สมาชิกไม่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมเนื่องจากขาดการประชาสัมพันธ์ ทำให้ระบบการทำงานเป็นทีมขาดประสิทธิภาพ กรรมการไม่มีความเป็นธรรม ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ กลุ่มอิทธิพลในท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในกองทุนโดยไม่มีหน่วยงานมาติดตามตรวจสอบ
                ภาคเหนือ พบว่า มีปัญหาในเรื่องนโยบายที่ขาดความเป็นเอกภาพ การดำเนินงานขาดความชัดเจนเปลี่ยนแปลงบ่อย ระเบียบการชำระคืน เช่น การส่งคืนภายใน 1 ปีและการให้สมาชิกส่งคืนธนาคารโดยตรงยังมีปัญหา นอกจากนี้ตัวระเบียบเองมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย วงเงินกู้ที่กรรมการอนุมัติให้มีน้อยเพียง 20,000 บาท ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรกับธนาคารออมสินมีวิธีการปฏิบัติไม่เหมือนกัน บางพื้นที่ไม่มีธนาคารต้องไปต่างอำเภอ
                สุดท้ายคือระบบบัญชีเปลี่ยนบ่อยหรือมีมากเกินความจำเป็น ด้านการดำเนินงาน คณะกรรมการขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องระเบียบการทำบัญชี และไม่มีการบันทึกการประชุม
                ภาคใต้ ปัญหาที่พบในส่วนของกรรมการคือ ขาดจิตสำนึก ขาดขวัญ กำลังใจ ความรู้ บางแห่งพบว่า กรรมการบางคนเป็นเผด็จการ ใช้ระบบเครือญาติ กรรมการมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ไม่มีเวลา เจ้าหน้าที่ขาดการบูรณาการ ขาดการติดตาม บทบาทไม่ชัดเจน สมาชิกขาดวินัย ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ใช้เงินไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ สร้างหนี้เพิ่ม ที่สำคัญคือเป็นนโยบายเร่งด่วน ไม่มีการบูรณาการ ไม่มีความเป็นเอกภาพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีส่วนร่วม ระเบียบบริหารจัดการไม่ชัดเจนและขาดการประสานงานเรื่องการตลาด และขาดทางเลือกในอาชีพ
                ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า คณะกรรมการไม่มีการวิเคราะห์โครงการที่สมาชิกขอกู้เงิน ไม่ยึดระเบียบ ขาดการฝึกอบรม พัฒนา ไม่เสียสละ ไม่มีการประชุมจริง ขาดการติดตามการดำเนินงาน ในส่วนของสมาชิกพบว่า ใช้เงินกู้ผิดวัตถุประสงค์ มีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น ขาดความรู้ด้านการพัฒนาอาชีพและการตลาด ชุมชนไม่มีความพร้อมทำให้สมาชิกไม่เข้าใจ ถือเป็นผลกระทบจากการเร่งรัดจัดตั้งกองทุน ไม่ส่งคืนเงินกู้ คนจนขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน ขาดจิตสำนึกความเป็นเจ้าของกองทุน ระเบียบไม่รัดกุม สัญญาเงินกู้สั้น เงินทุนไม่เพียงพอให้สมาชิกกู้ยืม ที่สำคัญคือมีการเมืองเข้ามาแทรกแซง นั่นคือสภาพปัญหาต่างๆ ที่พบในโครงการกองทุนหมู่บ้าน แม้ว่ากองทุนดังกล่าวจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า แต่ที่เป็นปัญหาใหญ่ตั้งแต่เริ่มโครงการมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือ ปัญหาที่ชุมชนนำเงินกองทุนหมู่บ้านไปให้สมาชิกบางส่วนใช้ตามความต้องการเฉพาะตัว และถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์โดยนำไปบริโภคสิ่งของเครื่องใช้ที่ฟุ่มเฟือยตามโลกของวัตถุนิยมแผ่ขยายอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็น รถมอเตอร์ไซค์ รถปิกอัพ โทรศัพท์มือถือหรือสิ่งของมีค่าต่างๆ แทนที่จะนำไปใช้ในการเสริมสร้างอาชีพอย่างแท้จริง ทั้งนี้เพราะเกรงว่า หากไม่มีการใช้เงินจากกองทุนหมู่บ้านนั้นๆ จะถูกตัดเงิน กรรมการกองทุนจึงพยายามหาทางใช้จ่ายโดยไม่มีหน่วยงานของรัฐมาตรวจสอบปัญหาที่นำมาเสนอในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลทักษิณ โดยเฉพาะนายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ จะต้องเร่งแก้ไข เพราะขณะนี้รัฐบาลเหลือเวลาอีกเพียง 1 ปีในการบริหารประเทศเท่านั้น หากยังปล่อยให้ปัญหานี้กลายเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข ผู้ที่รับภาระหน้าที่เพิ่มขึ้นคงหนีไม่พ้นประชาชน และผู้ที่จะต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบก็คือรัฐบาลทักษิณได้แต่หวังว่าคงไม่ใช้ยุทธวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเน้นการบริโภคนิยมสร้างหนี้ใหม่กลบหนี้เก่าในแบบเดิมๆ แต่เน้นการสร้างศักยภาพให้ประชาชนสามารถสร้างรายได้เพื่อใช้หนี้คืน พัฒนาทักษะการทำงาน หรือสร้างเสริมอาชีพให้กับประชาชนในหมู่บ้าน เพื่อจุดหมาย "ขจัดความยากจนให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทยภายใน 6 ปี" ได้เป็นจริง

http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2004q1/article2004feb12p3.htm



โอท็อปกับอนาคตชนบทไทย
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์  มติชนรายวัน  วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ปีที่ 26 ฉบับที่ 9425
                
            โครงการโอท็อปของรัฐบาลประสบความสำเร็จ เพราะเกิดผลดีขึ้นจริงทั้งแก่เศรษฐกิจไทยและชาวบ้าน โครงการนี้สร้างรายได้ในตลาดทั้งในและต่างประเทศถึง 32,000 ล้านบาท เป็นรายได้ที่น่าจะกระจายไปถึงผู้คนในชนบทได้มากเสียด้วย เพราะชาวบ้านเป็นผู้ผลิตเอง ในขณะเดียวกันก็มีรายงานของทีดีอาร์ไอว่า ช่วยเพิ่มรายได้ต่อครัวเรือนถึง 10% และลดการว่างงานในชนบทลงอย่างชัดเจน ฉะนั้น โอท็อปน่าจะอยู่ในเมืองไทยต่อไป และน่าจะอยู่ในลักษณะที่ทำความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจและชาวบ้านได้มากขึ้นกว่านี้อีกด้วย และด้วยเหตุดังนั้น จึงมีคำถามซึ่งควรตอบด้วยการวิจัยซึ่งมีข้อมูลรองรับ เพื่อที่จะปรับปรุงส่วนที่ขาดตกบกพร่อง และเสริมส่วนที่เข้มแข็งของโครงการ
                ประการแรก การผลิตของชาวบ้านในโครงการโอท็อปนั้นเกิดเครือข่ายในการผลิตขึ้นหรือไม่ และเพียงใด เครือข่ายการผลิตหมายถึง มีคนอื่นๆ เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตและขาย นับตั้งแต่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ หรือผลิตบรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงวางตลาด โอท็อปของตำบลหนึ่งไม่จำเป็นต้องส่งสู่ตลาดระดับชาติหรือโลกโดยตรง แต่เป็นการผลิตวัตถุดิบสำคัญให้แก่โอท็อปของอีกตำบลหนึ่งก็ได้ เช่นเป็นผู้ส่งน้ำปลาชั้นดีให้แก่การผลิตอาหารลือชื่อของอีกตำบลหนึ่ง หรือผลิตกระปุกสำหรับบรรจุสินค้าของอีกตำบลหนึ่ง เป็นต้น
                ในขณะเดียวกัน ก็น่าสนใจว่า เครือข่ายการวางตลาดนั้นมีชาวบ้านเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่มากน้อยเพียงใดถึงเวลานี้อาจมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่น้อย จะมีหนทางใดบ้างที่จะทำให้ชาวบ้านสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องมากขึ้น
                เรื่องของเครือข่ายหรือคลัสเตอร์มีความสำคัญ เพราะโอท็อปไม่น่าจะเป็นเพียงการหารายได้เสริม แต่น่าจะเป็นจุดเชื่อมโยงการผลิตที่ชาวบ้านทำอยู่แล้วในเวลานี้ ให้เกิดความเข้มแข็งมากขึ้น ไม่ว่าจะเข้มแข็งในเศรษฐกิจพอเพียง หรือเข้มแข็งในตลาด
                ในปัจจุบัน การผลิตสินค้าโอท็อปคือการระดมแรงงานของชาวบ้านโดยอาศัยฐานภูมิปัญญาเดิม ร่วมกันผลิตและแบ่งผลกำไรกันในรูปสหกรณ์ โดยตัวของมันเองก็ดีไม่ผิดอะไร เพียงแต่ว่าในอนาคตข้างหน้าลักษณะเช่นนี้อาจกลายไปได้ นั่นก็คือสินค้าโอท็อปที่มีตลาดกว้างไกล เช่น ตลาดต่างประเทศจะถูกนายทุนรวบด้วยการลงทุนด้านเครื่องจักรและเทคโนโลยี แล้วจ้างสหกรณ์แรงงานเหล่านี้ป้อนแรงงานให้แก่ระบบการผลิตแบบ putting out หรือโรงงานขนาดเล็กแทน
                เป้าหมายของโอท็อปน่าจะกว้างไกลกว่าการกระจายการจ้างงานโดยทุนไปสู่ชนบท แต่ต้องรวมถึงการส่งเสริมให้ชาวบ้านหรือกลุ่มสหกรณ์ของชาวบ้านกลายเป็นผู้ประกอบการเองด้วย เหตุฉะนั้นการศึกษาเพื่อมองหาหนทางที่จะพัฒนาความสามารถของชาวบ้านในกระบวนการทั้งหมด จากการผลิตไปสู่การวางตลาด จึงมีความสำคัญมาก
                ประการที่สอง สืบเนื่องจากที่กล่าวข้างต้น น่าจะมีการศึกษากระบวนการจัดจำหน่ายสินค้าโอท็อปเวลานี้ให้ดี เพื่อจะดูว่าระบบธุรกิจที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมดนั้นเป็นอย่างไร มีแนวโน้มของการรวบกิจการโดยทุนใหญ่(ทั้งในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้าน) มากน้อยเพียงไร และจะอาศัยศักยภาพอะไรของชาวบ้าน ในอันที่จะทำให้ชาวบ้านหรือสหกรณ์ของชาวบ้านเข้ามาดำเนินการทางธุรกิจนี้เองโดยได้ส่วนแบ่งผลกำไรอย่างเป็นธรรม ในทำนองเดียวกัน รายได้ที่เกิดขึ้นคือ 32,000 ล้านบาทนี้(ซึ่งไม่ทราบชัดว่าหมายถึงเกิดขึ้นในตำบล หรือเกิดขึ้นที่ตลาด) ใครได้ไปบ้าง มีสัดส่วนอย่างไร การกระจายรายได้ตรงนี้นับเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ ในอันที่จะใช้เป็นแนวทางการศึกษาตามที่กล่าวแล้วในประการที่สองนี้ได้ดี
                ประการที่สาม ตลาดของสินค้าโอท็อปเวลานี้คืออะไร มีสัดส่วนการส่งออกเท่าไร ขายแก่นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศเท่าไร และที่ป้อนความต้องการของตลาดภายในนอกการท่องเที่ยวสักเท่าไร หากส่วนใหญ่ของตลาดเป็นการท่องเที่ยว โอกาสที่จะทำให้โอท็อปเชื่อมโยงกับการผลิตในส่วนอื่นๆ ของท้องถิ่นก็ยิ่งยากขึ้น เพราะสินค้าของตลาดประเภทนี้มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งไม่ค่อยสัมพันธ์กับการผลิตของชาวบ้านในชนบทนัก หากส่วนใหญ่ของตลาดเป็นสินค้าส่งออก ก็ยังจำเป็นต้องวิเคราะห์อีกว่าสินค้าดังกล่าวนั้นป้อนตลาดประเภทใด หากเป็นหัตถกรรม ก็ต้องคิดถึงการพัฒนาฝีมือที่จะทำให้ความนิยมยั่งยืน ไม่ใช่เพียงเป็นการเห่อชั่วครั้งชั่วคราว
                ประการที่สี่ การวิจัยและพัฒนามีความสำคัญแก่โอท็อปยิ่งเสียกว่าการผลิตด้านอุตสาหกรรมอื่นๆ ของไทยด้วยซ้ำ เพราะอุตสาหกรรมไทยอาศัยการซื้อเทคโนโลยี และแรงงานราคาถูกเป็นฐาน แล้วก็วิ่งตัดราคาหาออร์เดอร์จากต่างประเทศ ในขณะที่โอท็อปไม่มีออร์เดอร์ ต้องผลิตออกมาก่อน ในขณะเดียวกันโอท็อปก็ไม่มีฐานของผู้บริโภคในท้องถิ่นที่ใหญ่นัก จึงไม่อาจใช้ปฏิกิริยาของผู้บริโภคเป็นตัวชี้วัดได้ ตัวอย่างเช่นปลากะตักนั้นถูกนำมาแปรรูปหลายลักษณะ เพราะไม่รู้ว่าอย่างไรจึงจะถูกปากผู้บริโภค ฉะนั้นเรื่องการวิจัยและพัฒนาจึงเป็นปัญหาที่ต้องหาวิธีจัดการให้เหมาะสม ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่ารัฐควรเข้าไปลงทุนด้านนี้เพียงอย่างเดียว ที่สำคัญกว่านั้นก็คือหาหนทางที่จะทำให้เกิดการวิจัยและพัฒนาในระดับที่เหมาะสมกับกิจการ และในลักษณะที่ชาวบ้านสามารถทำได้เอง
                ประการที่ห้า เพื่อให้รัฐสามารถสนับสนุนได้ถูกจุด น่าจะมีการศึกษาเพื่อทำดัชนีชี้วัดว่า โอท็อปใดมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการผลิตในท้องถิ่นมากหรือน้อย ทำให้เกิดงานทำมากหรือน้อย มีการกระจายผลกำไรได้กว้างขวางมากหรือน้อย ฯลฯ ดัชนีชี้วัดง่ายๆ เหล่านี้จะช่วยให้หน่วยงานที่มีหน้าที่สนับสนุน สามารถกระจายทรัพยากรในมือออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า ถ้ามีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า โอท็อปจะนำไปสู่การประกอบการของประชาชนในชนบท โดยเชื่อมโยงกับการผลิตในภาคเกษตรที่ประชาชนทำอยู่แล้ว ความสำเร็จของโครงการโอท็อปจะมีมากกว่ารายได้เป็นหมื่นล้านบาทต่อปี แต่หมายถึงการเปลี่ยนโฉมหน้าของชนบทไทยไปอย่างมาก เพราะเป็นการเพิ่มพลังของประชาชนส่วนใหญ่ในชนบท ก่อให้เกิดตลาดภายในที่เข้มแข็งขึ้น พอจะรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ และสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจไทยโดยรวมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
อันที่จริงในกรณีของไทย นัยะของโอท็อปอาจจะกว้างกว่าและลึกกว่าที่ทำในโออิตะประเทศญี่ปุ่น ถึงเวลาที่จะต้องศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ในเงื่อนไขของสังคมไทย พร้อมๆ กันไปกับการแสดงความชื่นชมทางการเมืองแล้ว






1 ความคิดเห็น: