วันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2553

บทความเกี่ยวกับการเขียนต่างๆ (บทความวิเคราะห์)

บทความวิเคราะห์

วิเคราะห์เหตุการณ์
       
จากสภาพเศรษฐกิจ และ สังคมของไทย ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงตามกระแสการพัฒนาแบบทุนนิยม ส่งผลกระทบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นตามในหลายๆ ด้านเช่น ปัญหายาเสพติด   ปัญหาที่ทำกิน    ปัญหาอาชญากรรม เป็นต้น และ ด้านหนึ่งที่เป็นปัญหามาก ในปัจจุบัน คือ ปัญหาทาง ด้านสุขภาพที่มี แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น  ซึ่งส่วนใหญ่มาจาก ด้านพฤติกรรมสุขภาพ ของคนไทยเอง ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองเพื่อการดำรงชีวิต และพฤติกรรมของมนุษย์เรามี ความเชื่อมโยงต่อระบบต่างๆ ที่อยู่ในสังคมซึ่งระบบความเชื่อถือได้ว่าเป็นระบบหนึ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมทางด้านสุขภาพของมนุษย์เรา และจากปรากฏการณ์ระบบความเชื่อของคนในชุมชนเรื่องผีปอบ ที่เกิดขึ้นนี้ พบว่าปรากฎการณ์ในระบบความเชื่อ ทางด้าน สุขภาพของประชาชน  มีระบบความเชื่อที่เชื่อมโยงกับความเชื่อดั้งเดิมในชุมชนที่ได้รับการขัดเกลาทางสังคม  (socialization)   สืบสานเป็นวัฒนธรรมความเชื่อสืบต่อกันมาเป็นรุ่นๆ ภายในชุมชน โดยมีความเชื่อมโยงประสมประสานกับวัฒนธรรมสังคมอีสาน และเมื่อเกิดเหตุการณ์ทางสุขภาพในชุมชนที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยชุมชนเอง เป็นตัวกระตุ้น 
                ภาพที่ออกมาจึงมี ความเชื่อมโยงกันใน ความเชื่อวัฒนธรรมดั้งเดิมที่สามารถอธิบายเห็นภาพได้ดีกว่า  ความเข้าใจของประชาชนเอง และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นถ้าเป็นการมองด้านจิตวิทยาที่ส่งผลต่อภาวะสุขภาพจิตภายในชุมชนจะมองปรากฎการณ์นี้เป็นปรากฎการณ์อุปทานหมู่ (mass hysteria) ที่เป็นผลกระทบจากปัจจัยทางด้านสังคมและเศรษฐกิจที่วิกฤตในปัจจุบันนี้ และประกอบกับความที่ไม่สามารถอธิบายถึงสาเหตุการตายของคนในหมู่บ้านได้ จึงเกิดความารู้สึกที่ไม่มีความมั่นคงในชีวิตของตนเองของคนในหมู่บ้านขึ้นพร้อมๆ กัน สรุปปรากฎการณ์นี้ทำให้เห็นถึงความเป็นจริงที่ปรากฏขึ้นนี้มีความเชื่อมโยงกับปัจจัยที่หลากหลาย และที่สำคัญคือ ปัจจัยทางดานสังคม และวัฒนธรรมของชุมชนที่จะเป็นตัวอธิบายเหตุและผลได้ด้วยตัวของชุมชนเอง



บทความ...วิเคราะห์ความเลวร้ายของรัฐธรรมนูญ คมช.
วิเคราะห์ความเลวร้ายของรัฐธรรมนูญ คมช.
โดย : ใจ อึ๊งภากรณ์  เมื่อ : 24/04/2007 10:39 AM

                รัฐธรรมนูญ คมช. เกิดจากกระบอกปืน เกิดจากรัฐประหารที่ไม่ชอบธรรม และร่างโดยคนกลุ่มเล็กๆ ที่แต่งตั้งโดยคณะเผด็จการ โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีบทบาทในการร่างแต่อย่างใด เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 40 (ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ควรปรับปรุง) รัฐธรรมนูญ 50 เป็นรัฐธรรมนูญของทหาร อภิสิทธิ์ชน และกลุ่มทุนที่ไม่เคยศรัทธาในระบบประชาธิปไตยเลย เห็นได้จากเนื้อหาสาระดังนี้ 1.ลดพื้นที่ประชาธิปไตยและตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้ง
-
 รัฐธรรมนูญ คมช. เพิ่มอำนาจให้กลุ่มอภิสิทธิ์ชนในสังคมที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดย ถอยหลังเข้าคลอง ยกเลิกการเลือกตั้งวุฒิสภา เพิ่มอำนาจให้ฝ่ายศาลหรือตุลาการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
-
 สร้างระบบพรรคพวกชนชั้นนำแต่งตั้งกันเองคือ ฝ่ายศาลและองค์กรที่อ้างว่า "อิสระ" แต่งตั้งวุฒิสมาชิก และวุฒิสมาชิกกับอภิสิทธิ์ชนแต่งตั้งองค์กร "อิสระ" วนเวียนกันในวัฏจักรน้ำเน่าของคนชั้นสูง กีดกันคนส่วนใหญ่จากการบริหารประเทศ (รัฐบาลและวุฒิสมาชิก) ด้วยข้อจำกัดเรื่องอายุและวุฒิการศึกษา กีดกันบทบาทพรรคการเมืองที่ต้องสมัครรับเลือกตั้ง เช่นในกรณีวุฒิสภา แต่เพิ่มหรือคงไว้อำนาจของทหาร ศาลและข้าราชการประจำ
-
 มาตรา 4 เชิดชู "ประเพณีการปกครองแบบไทยๆ" ซึ่งใครๆ ก็ทราบว่าประเพณีนี้ตรงข้ามกับประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคม               
- มาตรา167ซึ่งจำกัดวาระของนายกรัฐมนตรีเป็นการใช้กฎหมายในทางที่ผิดแทนที่จะไว้ใจเสียงประชาชนและมันจะไม่นำไปสู่การขยายประชาธิปไตยแต่อย่างใดไม่มีมาตรการใดๆ ทั้งสิ้นที่สนับสนุนให้มีพรรคการเมืองของภาคประชาชนทั้งๆ ที่ คมช. อ้างว่าคัดค้านอำนาจธุรกิจและกลุ่มทุน แต่รัฐธรรมนูญ คมช. เพิ่มอำนาจและอิทธิพลของกลุ่มทุนยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญปี 40 
-
 มาตรา 82/83 พ่วงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกับระบบตลาดเสรีอย่างชัดเจน ส่งเสริมให้ลดบทบาทรัฐในการควบคุมกลุ่มทุน ส่งเสริมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และบังคับให้รัฐบาลต้องลดงบประมาณที่ใช้สร้างสวัสดิการให้คนจนผ่านประโยคเรื่อง "การรักษาวินัยทางการคลัง" ซึ่งบังคับให้รัฐบาลต้องใช้นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมตาม ไอเอ็มเอฟ และฉันทามติวอชิงตัน ในขณะที่รัฐต้องจำกัดค่าใช้จ่ายสำหรับคนจน มาตรา 76 ระบุว่ารัฐต้องเพิ่มงบประมาณทหาร
                ในขณะที่เพิ่มอำนาจให้ตลาดและกลุ่มทุน ไม่มีการเพิ่มอำนาจและสิทธิเสรีภาพในการต่อรองของกรรมาชีพและสหภาพแรงงานหรือกลุ่มเกษตรกรแต่อย่างใด ไม่มีข้อเสนอให้เก็บภาษีก้าวหน้าจากคนรวย และไม่มีข้อเสนอให้สร้างรัฐสวัสดิการ 2.เพิ่มบทบาททหารในสังคม
                รัฐธรรมนูญนี้ระบุอย่างชัดเจนว่าจะต้องเพิ่มงบประมาณทหาร และไม่มีการจำกัดบทบาททหารในเรื่องการเมือง การคุมสื่อ หรือการเข้าไปแทรกแซงรัฐวิสาหกิจแต่อย่างใด
- มาตรา 299 ให้ความชอบธรรมกับการทำรัฐประหาร 19 กันยา ซึ่งเปิดทางให้ทหารแทรกแซงการเมืองต่อไป 

ไม่แก้ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้
                รัฐธรรมนูญ คมช. เต็มไปด้วยความคิดและวาจาของแนวชาตินิยมคับแคบไม่มีข้อเสนอใดๆ ที่จะแก้ปัญหาภาคใต้ผ่านการสร้างสันติภาพ การปกครองตนเอง และการให้ความเคารพกับวัฒนธรรม ศาสนา หรือภาษาที่หลากหลายแต่อย่างใด
ไม่เพิ่มสิทธิเสรีภาพ
                รัฐธรรมนูญ คมช. ไม่ขยายสิทธิเสรีภาพทางเพศ ไม่ให้สิทธิกับคนรักเพศเดียวกัน ไม่ให้สิทธิทำแท้ง ไม่เพิ่มสิทธิของกลุ่มชาติพันธ์หรือคนพิการแต่อย่างใดทั้งสิ้วาจาว่าด้วย"การมีส่วนร่วม"ของประชาชนหรือชุมชนเป็นเพียงนามธรรมและมองว่าประชาชนเป็นไพร่ที่ปกครองตนเองไม่ได้ ยังเชิดชูโทษประหารซึ่งเป็นการปกป้องระบบโทษแบบป่าเถื่อนไม่มีการบังคับใช้ประชามติในกรณีการเซ็นสัญญาค้าเสรี


ที่มา http://www.thaingo.org/writer/view.php?id=378




 วิเคราะห์รัฐสวัสดิการ และอนาคตของเศรษฐกิจไทย

           ช่วงนี้ประเทศไทยกำลังอยู่บนช่วงที่จะกำหนดอนาคตของประเทศในช่วงต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นเรื่องการจะมีรัฐสวัสดิการ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องของความเหลื่อมล้ำของรายได้ และปัญหาความยากจนที่มีอยู่มากในบางส่วนของประเทศ โดยเห็นกันว่ารัฐสวัสดิการอาจจะเป็นคำตอบที่จะนำมาซึ่งความปรองดองของส่วนต่างๆ ของประเทศได้ในที่สุด ในประเด็นนี้ถ้าจะพูดไปรัฐสวัสดิการก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายประเทศในโลกโดยเฉพาะประเทศในยุโรป เช่น เบลเยียม เดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ได้ให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน ทั้งในด้านการศึกษา การสาธารณสุข การคมนาคม รวมถึงการประกันสังคมในด้านต่างๆ เช่น รายได้ช่วงที่ตกงาน เงินบำนาญหลังเกษียณ เงินอุดหนุนแก่กลุ่มบุคคลต่างๆ โดยอาศัยรายได้จากภาษีจากผู้มีรายได้สูงมาใช้ในการให้บริการสาธารณะเหล่านี้ คำถามก็คือ ประเทศไทยพร้อมที่จะไปสู่การเป็นรัฐสวัสดิการแล้วหรือยัง ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่าประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการนั้น
           1.
ส่วนมากเป็นประเทศที่รัฐมีรายได้เป็นสัดส่วนที่สูงมากของ GDP ประมาณร้อยละ 40-50% โดยอาศัยที่ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในฐานภาษี รัฐจึงสามารถจัดเก็บรายได้เป็นจำนวนมาก ทำให้อยู่ในฐานะที่จะจัดให้เกิดรัฐสวัสดิการขึ้น
           2.
ประเทศเหล่านี้ได้พัฒนาเศรษฐกิจของตนไปมากแล้วในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ความจำเป็นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ ที่จะช่วยเอื้อต่อการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะในส่วนของสาธารณูปโภค คมนาคม และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ได้มีมากอีกต่อไป
          แต่สำหรับกรณีของประเทศไทยถ้าดูตามความเป็นจริงจะพบว่า ปัจจุบันรัฐบาลยังคงจัดเก็บภาษีได้ไม่มากนัก มีประชาชนที่จ่ายภาษีแค่เพียง 6 ล้านคน ขณะที่มีประชากรมากกว่า 60 ล้านคน อีกทั้งรายได้ของภาครัฐโดยรวมก็เพียงแค่ประมาณ 17% ของ GDP ด้วยเหตุนี้การจะให้คนเพียง 10% ทำหน้าที่ในการเสียภาษีเพื่อให้บริการสาธารณะแก่คนที่เหลืออีก 90% คงเป็นเรื่องที่ยาก ยิ่งไปกว่านั้นประเทศไทยยังมีข้อจำกัดสำคัญ อันเนื่องมาจากความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อเอื้อต่อการพัฒนาประเทศและลงทุนของภาคเอกชน ส่วนหนึ่งเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและเพิ่มรายได้ของประเทศ และอีกส่วนหนึ่งเพื่อแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังพัฒนาประเทศไปเป็นอย่างมา ถ้าประเทศไทยมีความล้าหลังในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น หรือมีภาษีที่สูงเกินไป ก็อาจจะไม่เป็นที่ดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่จะย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทย
          ณ จุดนี้ชัดเจนว่ารัฐบาลจะต้องเลือกว่าจะจัดสรรเงินภาษีที่มีอยู่อย่างจำกัดไปยังการลงทุน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือจะใช้ไปกับบริการสาธารณะของรัฐสวัสดิการ ซึ่งในความเป็นจริงจากข้อจำกัดต่างๆ ต่อให้ทำหรืออยากทำรัฐสวัสดิการแบบเต็มรูปแบบก็คงทำได้อย่างจำกัดเท่านั้น และถ้าไม่ระวังให้ดีรัฐก็จะต้องมีภาระอีกมากจากโครงการเหล่านี้
          ทางออกในเรื่องนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจบทบาทหน้าที่ของรัฐในอนาคต ใน 20-30 ปีข้างหน้า รัฐบาลของประเทศไทยจะต้องทำหน้าที่ในฐานะผู้ให้ประกันด้านสังคมแก่ประชากรมากขึ้นเรื่อยๆ ตรงนี้ไม่มีทางเลี่ยง ส่วนหนึ่งจากปัญหาเรื่องสังคมชราภาพที่จะมีผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้น ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐในการที่จะยังชีพ รวมไปถึงการสาธารณสุขซึ่งรัฐจะต้องคิดถึงเรื่องรัฐสวัสดิการให้มากขึ้น และเตรียมการตั้งแต่วันนี้ หัวใจสำคัญอยู่ที่รัฐบาลจะก้าวจากจุดนี้ไปยังจุดนั้นได้อย่างไร จากจุดนี้ที่ยังไม่พร้อมภายใต้งบประมาณที่จำกัด ทั้งยังมีความต้องการที่จะใช้งบประมาณในด้านต่างๆ รวมไปถึงการพัฒนาประเทศอีกด้วย ไปยังจุดที่พร้อมมากขึ้นสามารถเป็นรัฐสวัสดิการเต็มตัวมากขึ้น ซึ่งทางออกก็คงมีไม่มากนักต้องรู้จักจัดสรรเงินที่มีอย่างจำกัดไปยังเป้าหมายเศรษฐกิจด้านต่างๆ อย่างเหมาะสม
          หนึ่ง - การออมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ ในการที่จะเป็นรัฐสวัสดิการได้มากขึ้นในอนาคต ถ้าประเทศเจริญขึ้นและรัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้รัฐต้องให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งไว้สำหรับลงทุนอนาคตในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อพัฒนาประเทศไปข้างหน้าและสร้างประเทศให้เป็นที่น่าสนใจทัดเทียมกับเพื่อนบ้าน โดยตั้งเป้าหมายที่จะมีวินัยในการกันงบประมาณส่วนหนึ่งไว้สำหรับการลงทุน เช่น 25% ของงบโดยรวมในทุกปีหรือมากกว่า
          สอง - ฉลาดในการเป็นรัฐสวัสดิการ ความเสี่ยงในเรื่องนี้อยู่ที่การเป็นรัฐสวัสดิการอย่างไม่มีสติพอ  คือ คิดอะไรได้ หรือใครเสนออะไรมาก็ทำ ท้ายสุดงบประมาณในส่วนสวัสดิการก็จะสูงมากจนไปกินงบประมาณส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะงบลงทุน
          ในความเป็นจริงรัฐจะต้องเข้าไปดูแลเรื่องความสุข สวัสดิการของประชาชน ตลอดจนความเท่าเทียมของรายได้ แต่รัฐก็ต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยดำเนินการอย่างพอประมาณ มีเหตุผล ตามกำลัง ตามอัตภาพ ไม่มากเกินไป โดยรู้จักกำหนดสัดส่วนสูงสุดของงบประมาณในแต่ละปีที่รัฐจะสามารถให้กับสวัสดิการสังคม ทั้งทางตรงและอ้อม ทั้งโครงการรัฐ หรือผ่านสำนักงานประกันสังคม ซึ่งจะเป็นภาระผูกพันรัฐบาลในอนาคต ดังนั้นเมื่อมีวงเงินที่จำกัดสำหรับสวัสดิการสังคมและปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ รัฐก็จะใช้จ่ายได้ไม่มาก ท้ายสุดก็ต้องเลือก ต้องรู้จักจัดความสำคัญก่อนหลัง เลือกโครงการเฉพาะที่สร้างความอยู่ดีกินดีให้กับประชาชนอย่างแท้จริง โดยคิดถึงรายจ่ายผูกพันในปีนี้และปีข้างหน้าของโครงการอย่างรอบคอบ ยิ่งไปกว่านั้น วงเงินที่จำกัดจะกลายเป็นเงื่อนสำคัญท้ายสุดก็ต้องเลิกโครงการประชานิยมที่สร้างหนี้ สร้างความอ่อนแอให้กับประชาชน หันมาเน้นโครงการประชาเข้มแข็งที่สร้างรายได้และการอยู่ดีกินดี ให้คนยืนได้ด้วยตนเอง
          โดยสรุปรัฐต้องรู้จักใช้เงินน้อยแต่ให้ได้ผลมาก นำเงินที่มีอย่างจำกัดไปใช้ในโครงการสำคัญๆ ที่จะมีผลกับการพัฒนาและรายได้ของประชาชนอย่างยั่งยืน เช่น การพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั่วประเทศ การยกระดับเทคโนโลยีการเกษตร การดูแลเรื่องน้ำ การหาระบบที่จะลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาเกษตร การดูแลสุขภาพของประชาชน รวมไปถึงการพัฒนาแหล่งเงินออมให้กับชุมชน เพื่อให้ประชาชนสามารถช่วยตนเองได้บางส่วน ก็จะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สังคมเกิดความเท่าเทียมกันได้บ้าง และจะช่วยทำให้ประเทศสามารถเติบโตได้ยั่งยืนอย่างแท้จริง

* โดยนายอิสระ บุญยัง นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร วารสารราย 3 เดือน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ฉบับเดือนเมษายน-มิถุนายน 2553


บทความวิเคราะห์ ความเหมือนที่แตกต่าง คู่แข่งที่ไม่คู่ควร GRAMMY- RS


                 บทความวิเคราะห์ สองคู่แข่ง คู่แค้น ที่มีความต่างกันมาก ราวฟ้ากับดินเมื่อมองวิเคราะห์จากมูลค่าขององค์กรและมองแบบธุรกิจ ช่วงนี้เป็นโอกาสดี ที่ผมจะมาเรียบเรียงบทความ และวิเคราะห์ ของ 2 บริษัทสื่อยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย ที่เป็นคู่แข่งกันมาตลอดในสายตาของประชาชน      
ผมขอใช้นามแฝงว่า : krisunton cu884
หลายคนในแวดวงนักธุรกิจชั้นสูง คงทราบกันนี้ว่านามแฝงนี้คือใคร ?      
ผมคนหนึ่งที่เรียนจบ เกรียตินิยมอันดับ 1 เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ 
                ปัจจุบันผมเป็นผู้บริหารระดับสูง อาวุโส ของบริษัทหลักทรัพย์ชื่อก้องระดับเชียแห่งหนึ่ง ที่โด่งดังในเมืองไทย และเป็นอาจารย์พิเศษให้กับมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง 
                ตลอด20ปีที่ผ่านมา ผมได้มองดูสองบริษัทยักษ์ ที่ผู้นำทางวงการบันเทิงไทย
ทั้งสองบริษัทนี้ไม่ได้เกิดมาพร้อมๆกัน แต่มีพัฒนาการที่แตกต่างกันอย่างสูงสุด
                พัฒนาการของกลุ่มบริษัท จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ เกิดมาจากสุดยอดคนแห่ง จุฬาฯ และ ธรรมศาสตร์  ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม (อากู๋) ชื่อนี้เป็นชื่อของเด็กคนหนึ่งที่โด่งดังจาก โรงเรียนอันดับ1ของประเทศ สวนกุหลาบวิทยาลัยถือว่าในสมัยนั้นผู้ใดที่สามารถเข้ามาเรียนในโรงเรียนแห่งนี้ได้ ถือว่าเก่งเป็นอย่างยิ่ง เขาเป็นคนจีนร้อยเปอร์เซ็น ที่ข้ามน้ำข้ามทะเล มากับครอบครัว มาตั้งรากฐานทำมาหากินในเมืองไทย เด็กคนหนึ่งใช้ความสามารถสอบเข้า มหาวิทยาลัย อันดับ 1 ของประเทศ คือ นิเทศศาสตร์ แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาเป็นศิษย์รุ่นแรกๆของนิเทศจุฬา และในที่สุดเขาพยามจนสามารถ คว้าเหรียญทองเกรียตินิยม มาจนได้ และเป็นความภาคภูมิใจของชาวนิเทศจุฬาและเขายังสามารถได้ ปริญาเอก MBA ได้สำเร็จในทุกวันนี้ เมื่อเรียนจบเขาได้บอกกับตัวเองว่า สักวัน..ก..ต้องรวย “.จะต้องเป็นเศรษฐีหมื่นล้าน และด้วยความพยามยามของเขา......เมื่อเรียนจบเข้าได้เข้าไปทำงานในบริษัทแห่งหนึ่ง เขาได้ปลีกตัวเองจากบริษัทนี้ เพื่อตามหาฝันของเขา เมื่อได้พบกับเพื่อนคนหนึ่งจากรั้วธรรมศาสตร์ ใครคนนั้นไม่ใช่ใคร ผู้ให้กำเนิดเพลงไทยสตริงสากลให้กับชาวไทย เต๋อ เรวัติ พุทธินันท์ คนดังแห่งรั้วธรรมศาสตร์ ขุนศึกแห่งวงดนตรีระดับประเทศ ดิอิมพอสสิเบิลอีกท่านคือ คุณ บุษบา ดาวเรือง หญิงแกร่งแห่งรั้วธรรมศาสตร์ และภายหลังกับ บุรุษผู้ยิ่งใหญ่จากรั้วสถาปัตยฯจุฬาฯ คนดังแห่งวงเฉลียง ดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค ก่อตั้ง บริษัท แกรมมี่ เอนเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ค่ายเพลงที่ลงทุนด้วยเงินเพียง 5แสนบาท ค่ายเพลงสตริงค่ายแรกของเมืองไทย ผลิตศิลปินออกมาจนเป็นระดับซุปเปอร์สตาร์อันดับ1ของประเทศหลายๆ คน จนมาถึงวันที่แกรมมี่มาพบกับจุดเปลี่ยนพร้อมกับการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่. น้า เต๋อ เรวัติ ผู้ยิ่งใหญ่ ได้จากไปแล้ว ....
เมื่อขาดผู้นำไปอีกคน ก็เหลือแต่เพียงสองผู้ยิ่งใหญ่ ไพบูลย์ และ บุษบา ไพบูลย์เป็นผู้นำแกรมมี่ เริ่มขยายธุรกิจด้านบันเทิงครบวงจร เริ่มจากรายการโทรทัศน์ คลื่นวิทยุ สื่อต่างๆ จนในที่ ในปี 2537 เขาสามารถนำพา แกรมมี่ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กลายเป็น บริษัทที่มีคำว่า มหาชนตามท้าย เขาได้ขับเคลื่อนแกรมมี่อย่างเต็มสูบ จนประสบความสำเร็จ กลายเป็น ค่ายเพลงอันดับ1ของประเทศที่ครองตลาดเพลงในประเทศไทยมากกว่า 70 % เขายังได้นำแกรมมี่ ขยายครอบคลุมสื่อในทุกด้านๆ จนสามารถทำรายได้สูงสุดหลายๆพันล้าน เพิ่มทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ และเขาได้เปลี่ยนชื่อ เป็น จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด มหาชน และแตกตัว บริษัท อีกหนึ่งบริษัทที่ยิ่งใหญ่ด้านสื่ออีกบริษัท ชื่อ จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) ภายใต้การนำของหญิงเหล็ก ฉอด สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา สาวแกร่งซีเนียร์แห่งนิเทศจุฬาฯ และ อภิรักษ์ โกษะโยธิน นักธุรกิจหนุ่มไฟแรง จนให้มีเครือแกรมมี่ในตลาดหุ้นถึง2ตัว ทำให้ อากู๋ ไพบูลย์ ได้ครอบครอง 2 บริษัท เรียกว่าเครือจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ที่มีมูลค่ารวมกันนับหมื่นล้านบาท เขาได้ถือหุ้นบริษัทหมื่นล้าน มากกว่า 50 % โดยที่เขาสร้างมากับมือ และอากู๋ยังได้ทุ่มเงินหลายพันล้านซื้อตึกใหม่ ที่ทำการใหม่ให้แกรมมี่ ด้วยเงินส่วนตัวของเขา ตึกที่มีความสูง 42 ชั้น และมีความสูง ความใหญ่โต และสวยที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพ ใจกลางย่านธุรกิจ อโศก สุขุมวิท ปัจจุบัน มีการประเมินราคาตึกแกรมมี่ในย่านใจกลางธุรกิจ ให้ราคาตึก ประเมินสูงกว่า 6,000 ล้านบาท 
                เขาได้พบกับความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดอีกครั้งในปี 2547 เขาสามารนำกลุ่มบริษัทจีเอ็มเอ็ม กวาดรายได้ เกือบ 7,000 ล้านบาท ทำกำไร แตะ 1,000 ล้านบาท อย่างรวดเร็ว และในปี 2003 หุ้นกลุ่มบริษัทจีเอ็มเอ็มแกรมม่ ทั้งสองตัว ทำราคาดีดขึ้นสูงสุด จนมีมาร์เก็ตแคปสองบริษัทรวมกัน พุ่งเป็น 16,500 ล้านบาท จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ยังกวาดรางวัลด้านธุรกิจชั้นแนวหน้าระดับเอเชีย จากนิตยสาร ฟร๊อบ และ ฟาร์อิสเทริน์ ได้รับรางวัลบริษัทชั้นนำของเอเชีย ที่ประสบความสำเร็จสูงสุด ได้ไปรับรางวัล ณ เซ็นโตซ่าประเทศสิงค์โปร์ หลายรางวัลติดต่อกันหลายปี จนในปัจจุบัน 2550 กลุ่มบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ กลายเป็นยักษ์ใหญ่ อันดับ 1 ผู้นำแห่งวงการสื่อเมืองไทย ที่มีสื่อยักษ์ในมือระดับแนวหน้าชั้นน้ำครบวงจรทุกด้าน อาทิ ดนตรี สื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ ภาพยนตร์และด้านสื่อดิจิตอล สื่อระดับอินเตอร์ ในเอเชียฯลฯ และหาองค์กรอื่นใดมาเทียบได้ยาก และในตลอดเวลา ถึงทุกวันนี้ กลุ่มแกรมมี่เป็นกลุ่มบริษัทเดียวในประเทศ ที่เป็นบริษัทที่ไม่เคยขาดทุนแม้แต่บาทเดียว และมีงบประมาณเงินสดในมือ กว่าสองพันล้านบาท มีเงินหมุนเวียนกว่าห้าพันล้านบาท ที่จะเป็นทุนขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จในทุกด้าน ถึงแม้เศรษฐกิจในประเทศ และความไม่แน่นอนทางการเมืองส่งผลให้ราคาหุ้นลดลงไปมาก ในช่วงปี 48-49 ก็ไม่ส่งผลต่อความมั่นคงของบริษัทเลย เพราะไม่เกิดการขาดทุนแม้แต่บาทเดียว และคาดว่าราคาหุ้นจะเริ่มดีดตัวขึ้นไปเรื่อยจนกลับไปราคาเดิมภายในปี 52 
                ผมทึ่ง อากู๋ ไพบูลย์ จากที่เขาเป็นแค่ตี๋หนุ่มธรรมดาๆ ภายใน 20 ปี เขาสามารถ สร้างตัวเขา กลายเป็น อภิมหาเศรษฐีหมื่นล้าน! ระดับท๊อบไฟว์ของประเทศไทย มีทรัพย์สิน มีเงินสดมากมายมหาศาลนับหมื่นล้านบาท ชื่อของเขาก้องกังวานในแวดวงธุรกิจของเอเชีย และเขายังเป็นเศรษฐีระดับเอเชียรายแรกๆ ที่ยอมเจรจาทุ่มเงินหลายพันล้าน เข้าซื้อสโมสรฟุตบอลระดับโลก ลิเวอร์พูลเขาได้เป็นเจ้าพ่อแห่งวงการสื่อของเมืองไทย และได้รับยกย่องให้เป็นผู้ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในวงการสื่อบันเทิงไทย ผมทึ่งมาก! เพียงแค่ 20 ปี กับคำที่เขาบอกกับตัวเองในสมัยที่ยังเป็นเด็กจุฬาฯ สักวัน..ก..ต้องรวยหมื่นล้าน และในวันนี้ เขาได้เป็นอย่างที่เขาพูดในเมื่อตอน 20 ปี ก่อน อย่างไม่มีผิด 

ลองมาดูพัฒนาการของทางด้าน RS 
                บริษัท RS เกิดมาจากตระกูลคนจีนตระกูลหนึ่ง พี่น้องที่การศึกษาที่พึ่งจบจาก ม.รามคำแหงมาได้ไม่กี่ปี ที่ผ่านมา ครอบครัวนี้ได้นำพาจาก บริษัท อาร์เอสซาวด์ ด้วยการบริหารงานแบบ อาเฮียก้าวไปสู่ค่ายเพลงชั้นแนวหน้าของไทย เริ่มโด่งจาดจากการเป็นค่ายเพลงลุกทุ่ง จนพัฒนากลายเป็นค่ายเพลงสตริงใน5 ปีให้หลัง ได้เริ่มผลิตศิลปินและงานเพลง ออกแนววัยรุ่น และขายให้ตลาดวัยรุ่น บริษัท อาร์เอส โปรมั่นชั่น 1992 ได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และเริ่มก้าวรุกตลาดด้านสื่อต่างๆทุกด้าน แม้จะไม่สามารถทำให้ครอบครัวนี้ร่ำรวยระดับประเทศได้ แต่ในปัจจุบันกลายเป็นบริษัทสื่อยักษ์บริษัทหนึ่ง ในเมืองไทย ที่ทุกคนมองว่าเป็นคู่แข่งกับบริษัทที่มีความต่างกันมากในหลายด้าน เพราะทุกคนมองการเป็นคู่แข่ง จากสื่อด้านเสียงเพลงคือ ค่ายเพลงนั่นเอง
                อาร์เอส ในปัจจุบันนี้ ถือว่าเป็นบริษัทสื่อบันเทิงครบครบวงจร ถึงแม้ขนาดขององค์กรจะไม่ใหญ่โตเท่ากับบริษัทที่หลายมองเป็นคู่แข่งอย่าง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ แต่อาร์เอสในปัจจุบันมีพัฒนาขึ้นมากด้วยประสบการณ์ และแนวการการบริหารธุรกิจที่เปลี่ยนไป จนทุกวันนี้ได้ก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งเต็มตัวกับแกรมมี่ หลังจากที่บริษัทขาดทุนต่อเนื่องมากว่า3ปี จนทำให้บริษัทอยู่ในภาวะวิกฤต อาร์เอสได้ปลี่ยนกลยุทธ์การบริหารงานใหม่ โดยดึงตัวผู้บริหารฝีมือดี มานั่งแท่นบริหาร กลับมีปาฎิหารย์ พลิกจากการขาดทุนสะบั้น มาเริ่ม มีกำไร ในปี 2549 ปีที่แล้ว และคาดว่าจะมีกำไรต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จากการขยายตัวดีขึ้นในสื่อต่างๆของบริษัท แม้ว่างบประมาณเงินสดที่มีในบริษัทในปัจจุบัน มีเพียง 87 ล้านบาท แต่ก็เป็นอีกก้าวหนึ่งที่จะทำให้อาร์เอสพัฒนาไปเรื่อยๆ ดูจากราคาหุ้นที่เริ่มมีความมั่นคงเหมือนหุ้นอื่นๆทั่วไปในตลาดหลักทรัพย์
                ผมได้มองภาพรวมของสองบริษัทนี้แล้ว ที่คนในประเทศส่วนมากคิดว่าเป็นคู่แข่งกัน แต่ในด้านขนาดขององค์กร และในด้านอื่นๆ มองได้ชัดว่าภาพรวม แตกต่างกันมากโดยสิ้นเชิง.......





 (บทความวิเคราะห์ข่าว)  การลดอันตรายจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย

การลดอันตรายจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย
                ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า เมื่อปี 2547 มีผู้หญิงต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะได้รับอันตรายจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยถึง 13,833 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 36.2 เกิดอาการแทรกซ้อนจากการยุติการตั้งครรภ์ เช่น ติดเชื้อ ไตวาย ตกเลือด มดลูกทะลุ ฯลฯ และเสียชีวิต 12 ราย ตัวเลขนี้เป็นข้อมูลที่ทางราชการได้รับรายงานจากโรงพยาบาลบางแห่งเท่านั้น
                อธิบดีกรมอนามัย หมอณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กล่าวว่าผู้หญิงกลุ่มนี้ตั้งครรภ์เพราะขาดข้อมูลด้านการคุ้มกำเนิด และเข้าไม่ถึงการบริการคุ้มกำเนิด กระทั้งต้องตัดสินใจการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งทำด้วยวิธีการที่ขาดสุขอนามัย
                คุณหมอบอกอีกว่า เวลานี้อัตราการตายของมารดาที่ตั้งครรภ์สูงขึ้นจาก ๕ ปีก่อน สาเหตุส่วนใหญ่ก็มาจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยนี่เอง ที่จริงแล้ว ประเทศที่มีกฎหมายเข้มงวดเรื่องการทำแท้ง ก็มิได้ทำให้อัตราการทำแท้งลดลง เช่น บางประเทศในละตินอเมริกา ที่มีกฎหมายเข้มงวด แต่ก็พบว่ามีอัตราการทำแท้งที่สูงมาก การทำแท้งเหล่านั้น กลายเป็นกิจกรรมนอกกฎหมาย ต้องทำแบบหลบซ่อน จึงมีราคาแพง และไม่ถูกสุขอนามัย จนนำไปสู่การบาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิต
ประเทศไทยก็น่าอยู่ในข่าย เข้มงวดเรื่องการทำแท้งใช่หรือไม่?
                หลายปีก่อน มีการศึกษาในโรงพยาบาล ๕ แห่งในเมืองไทย พบว่า มีหญิง ๙๖๘ ราย ไปรักษาตัว เพราะได้รับอันตรายจากการทำแท้งที่ผิดกฎหมาย ในจำนวนนี้เสียชีวิตไป ๑๓ ราย ขณะที่หญิง ๑๙๕ รายที่ได้รับบริการที่ถูกกฎหมาย ทุกคนล้วนปลอดภัยดี
                ที่เนเธอร์แลนด์ การทำแท้งเป็นสิ่งถูกกฎหมาย และมีบริการที่เข้าถึงได้ง่าย อัตราการทำแท้งกลับตํ่ามาก เนื่องจากมีบริการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพนั่นเอง การทำเรื่องนี้ให้ถูกกฎหมาย จึงทำให้ผู้หญิงมีทางเลือกที่ปลอดภัยมากขึ้น ไม่เกี่ยวกับว่าจะทำให้เกิดการทำแท้งมากขึ้น
                นอกจากนี้ หญิงไทยที่ตั้งครรภ์เพราะไม่พร้อม จากการศึกษาก็พบว่าส่วนหนึ่งเข้าไม่ถึงบริการคุมกำเนิด อีกส่วนหนึ่งคือคุมแล้วพลาด รวมทั้งไม่คาดการณ์ว่าจะมีเพศสัมพันธ์ จึงไม่ได้เตรียมอุปกรณ์ป้องกัน
                ดังนั้น หากเรายังคิดว่า การสอนเพศศึกษาเรื่องการป้องกันท้อง เป็นการ ชี้โพรงให้กระรอกและการเพิ่มทางเลือกเรื่องการทำแท้งให้หญิงที่ตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อม เป็นการเปิดช่องให้คนทำแท้งมากขึ้น
แล้วผู้หญิงของเราจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร???


รุจน์ โกมลบุตร ม.ธรรมศาสตร์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น